Waterloo, Battle of (June 18, 1815)

ยุทธการที่วอเตอร์ลู (๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๕๘)

ยุทธการที่วอเตอร์ลูเป็นการรบระหว่างกองทัพฝรั่งเศสกับกองทัพอังกฤษและปรัสเซีย และเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการรบที่วอเตอร์ลู (Waterloo Campaign) ใกล้กับหมู่บ้านวอเตอร์ลูในเบลเยียม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ กองทัพฝรั่งเศสที่มีจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* เป็นแม่ทัพได้เคลื่อนกำลังข้ามพรมแดนเบลเยียมเพื่อสลายกำลังของกองทัพอังกฤษและปรัสเซีย ฝรั่งเศสมีชัยชนะต่อปรัสเซียในยุทธการที่ลีญี (Battle of Ligny)* ๒ วัน ก่อนหน้านี้ และไล่ติดตามกองทัพปรัสเซียที่มีจอมพลเกบฮาร์ด เลเบเรชท์ ฟอน บลือเชอร์ (Gebhard Leberecht von Blücher)* เป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งถอยหนีเพื่อไปสมทบกับกองทัพอังกฤษที่มีอาร์เทอร์เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington)* เป็นผู้นำทัพ ในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดยุทธการที่ลีญี จอมพล มีเชล เน (Michel Ney)* ก็นำกองทัพฝรั่งเศสบุกโจมตีกองทัพสหพันธมิตรในยุทธการที่กาเตรอบรา (Battle of Quatre Bras)* ซึ่งดุ๊กแห่งเวลลิงตันได้เดินทางมาพร้อมกองกำลังอังกฤษมาบัญชาการรบในที่สุดกองทัพฝ่ายสหพันธมิตรก็สามารถต้านกองทัพฝรั่งเศสและยึดคืนพื้นที่ได้อย่างไรก็ตาม จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ก็ไม่ทรงลดความพยายามที่จะพิชิตศึกอีกครั้งให้จงได้ โดยทรงบัญชาให้เคลื่อนพลต่อไป แต่กองทัพฝรั่งเศสต้องชะลอการบุกโจมตีกองทัพอังกฤษที่ตั้งใกล้กับหมู่บ้านวอเตอร์ลูเนื่องจากฝนตกหนัก ผืนดินเจิ่งนองและเป็นโคลนตม ต่อมาเมื่อเริ่มโจมตีในรุ่งเช้าของวันที่ ๑๘ มิถุนายน กองทัพอังกฤษที่ตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งได้เปรียบในด้านชัยภูมิก็สามารถมีชัยชนะเหนือกองทัพฝรั่งเศส โดยมีกองทัพปรัสเซียโจมตีปีกขวาของกองทัพฝรั่งเศสจนทำให้กองทัพฝรั่งเศสถอยร่นไม่เป็นกระบวนและหมดสภาพในการรบ ผลของสงครามทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่๑หมดอำนาจลงอย่างแท้จริงเป็นการสิ้นสุดของสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* และจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงถูกเนรเทศไปเกาะเซนต์เฮเลนา (St.Helena)โดยไม่ทรงมีโอกาสหวนคืนฝรั่งเศสอีกเลยจนเสด็จสวรรคตในเวลาต่อมา

 ยุทธการที่วอเตอร์ลูเป็นผลสืบเนื่องจากการที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงหลบหนีออกจากเกาะเอลบา (Elba) กลับฝรั่งเศสเพื่อยึดอำนาจกลับคืนและนำไปสู่ช่วงสมัยร้อยวัน แม้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII)* จะส่งกำลังทหารมาขัดขวางเพื่อไม่ให้จักรพรรดินโปเลียนที่๑เข้าสู่กรุงปารีสได้แต่ก็ล้มเหลวเพราะประชาชนทั่วไปสนับสนุนจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และกองทหารที่ส่งมาสกัดกั้นก็เข้าร่วมกับพระองค์ด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ จึงต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ข่าวเรื่องการนิวัติสู่กรุงปารีสของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทำให้กลุ่มประเทศมหาอำนาจที่กำลังประชุมหารือกันเกี่ยวกับการสร้างระเบียบใหม่แก่ยุโรปในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ต้องยุติลง ทั้งส่งผลให้ความพยายามของเจ้าชายชาร์ล โมริซ เดอ ตาเลรอง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord)* เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสในการดำเนินนโยบายทางการทูตเพื่อให้ฝรั่งเศสพ้นภาวะการอยู่โดดเดี่ยวและให้มีบทบาทสำคัญในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาต้องสิ้นสุดลง ตาเลรองก็ต้องถอนตัวออกจากที่ประชุมด้วย

 แม้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จะทรงประกาศว่าพระองค์ทรงปรารถนาสันติภาพและความสงบสุขของยุโรปโดยมิได้มีความทะเยอทะยานใด ๆ ทั้งจะปกครองประเทศโดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นแต่ประเทศมหาอำนาจก็ไม่เชื่อและเห็นว่าพระองค์กำลังเตรียมจะก่อสงครามครั้งใหม่ อังกฤษ ปรัสเซียออสเตรีย รัสเซีย โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ สวีเดนและแกรนด์ดัชชี และราชรัฐอีกหลายแห่งจึงผนึกกำลังกันเป็นสหพันธมิตรเพื่อทำสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗ (Seventh Coalition War) ออสเตรีย ปรัสเซีย อังกฤษ และรัสเซียสัญญาจะส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบประเทศละ ๑๕๐,๐๐๐ นาย ส่วนรัฐพันธมิตรอื่น ๆ จะส่งประเทศละ ๑๐๐,๐๐๐ นาย ส่วนฝรั่งเศสมีทหารประจำการขณะนั้นประมาณ ๒๒๔,๐๐๐ นายแต่พร้อมรบได้เพียง ๕๐,๐๐๐ นายจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงเรียกระดมพลจากทหารผ่านศึกที่เคยร่วมรบระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๓–๑๘๑๔ ได้ราว ๑๒๐,๐๐๐ นาย คาดกันว่ากองกำลังฝ่ายสหพันธมิตรจะระดมกำลังได้พร้อมเพรียงและเคลื่อนกำลังไปประจำการตามพรมแดนของฝรั่งเศสได้ราววันที่ ๑ กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ในต้นเดือนมิถุนายน กองกำลังผสมอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ที่มีดุ๊กแห่งเวลลิงตันเป็นผู้บังคับบัญชากับกองกำลังปรัสเซียที่มีจอมพล บลือเชอร์เป็นแม่ทัพได้เคลื่อนพลมาแถบพื้นที่รอบ ๆ กรุงบรัสเซลส์เพื่อจะรวมตัวกันเตรียมโจมตีฝรั่งเศสต่อไป จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ จึงตัดสินพระทัยบุกโจมตีก่อนที่กองทัพทั้งสองจะสนธิกำลังกันได้สำเร็จและก่อนที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ จะมาสมทบ

 จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งเชี่ยวชาญการรบแบบเคลื่อนที่เร็วในการบุกจู่โจมทรงแบ่งกำลังทัพออกเป็น ๒ กองเพื่อแยกโจมตีกองทัพปรัสเซียและกองทัพอังกฤษบริเวณพรมแดนเบลเยียม พระองค์ทรงนำทัพหลักบุกโจมตีกองทัพปรัสเซียที่มีจอมพลบลือเชอร์เป็นผู้บังคับบัญชาในยุทธการที่ลีญีเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ แม้ปรัสเซียจะคุมจุดยุทธศาสตร์การรบได้ แต่ทหารจำนวนไม่น้อยเป็นทหารเกณฑ์ใหม่ที่ขาดประสบการณ์การรบซึ่งแตกต่างจากทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งที่โชกโชนในการต่อสู้ทำสงครามทั้งมีกำลังใจฮึกเหิม ฝรั่งเศสสามารถโจมตีแนวกลางของกองทัพปรัสเซียแตกและกองกำลังอีกส่วนหนึ่งก็บุกเข้าสมทบโจมตีด้านข้างของทัพปรัสเซียม้าของบลือเชอร์ถูกกระสุนและบลือเชอร์ได้รับบาดเจ็บแต่เขาได้รับการช่วยเหลือให้หนีได้ ก่อนพลบค่ำของวันที่ ๑๖ มิถุนายน กองทัพของปรัสเซียก็พ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศสและกองกำลังบางส่วนถอยหนีไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองวาฟวร์ (Wavre) ปรัสเซียสูญเสียทหารกว่า ๑๒,๐๐๐ นายและทหารปรัสเซียประมาณ ๘,๐๐๐ นาย ที่ถูกเกณฑ์มาจากดินแดนที่ฝรั่งเศสเคยยึดครองก็หนีทัพ ส่วนฝรั่งเศสสูญเสียทหารราว ๑๐,๐๐๐ นาย

 ในช่วงเวลาเดียวกับที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ บุก โจมตีปรัสเซียที่ลีญี กองทัพฝรั่งเศสที่มีจอมพล เนเป็นผู้บังคับบัญชาก็เคลื่อนพลเข้าโจมตีกองทัพของฝ่ายสหพันธมิตรที่ตั้งมั่นที่กาเตรอบรา ในยุทธการที่กาเตรอบรา ดุ๊กแห่งเวลลิงตันซึ่งเดินทางมาพร้อมกองกำลังอังกฤษเพื่อช่วยบัญชาการรบสามารถต้านการบุกของจอมพล เนได้ และท้ายสุดกองกำลังฝ่ายสหพันธมิตรก็สามารถยึดคืนพื้นที่ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อทราบข่าวการปราชัยของกองทัพปรัสเซีย เวลลิงตันเห็นว่ากองทัพฝรั่งเศสต้องเคลื่อนพลมารวมกับกองทัพของจอมพลเนเพื่อโจมตีกองกำลังอังกฤษ เขาจึงตัดสินใจถอนกำลังอังกฤษจากกาเตรอบราไปทางตอนเหนือ ๑๕ กิโลเมตรไปตั้งรับที่วอเตอร์ลู กองกำลังของเวลลิงตันจัดขบวนทัพตั้งรับยาว ๔ กิโลเมตรตามแนวเนินเขาที่ลาดเอียงโค้งสลับกับสันเนินต่ำหลังแนวเส้นทางโอไฮน์ (Ohain Road) และกองทัพฝรั่งเศสมองไม่เห็น อีกทั้งยังสามารถใช้ป้องกันการโจมตีจากกองทหารปืนใหญ่ของฝรั่งเศสได้ กำลังหลักของเวลลิงตันอยู่แนวตรงกลางบริเวณฟาร์มและไร่นาของหมู่บ้านลาเอแซ็งต์ (La Hey Sainte) ทางตะวันตกของเส้นทางหลักที่ตัดตรงไปยังกรุงบรัสเซลส์ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ดีสามารถเห็นการเคลื่อนกองกำลังต่าง ๆ ได้ ส่วนกองกำลังปีกขวาอยู่ที่เนินเขาอูกูม็อง (Hougoumont) ทางตะวันตกและกองกำลังปีกซ้ายอยู่ที่ไร่นาเขตปาเปอลอตต์ (Papelotte) ทางตะวันออก บริเวณพื้นที่กองกำลังเวลลิงตันตั้งรับทั้งหมดจะมีโรงนาก่ออิฐที่มีกำแพงกั้นเป็นวงกลมที่สร้างอย่างแข็งแรงซึ่งเปรียบเสมือนเป็นป้อมปราการทั้งใช้เป็นที่มั่นป้องกันสำคัญเพื่อต้านการบุกได้

 ในช่วงที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เคลื่อนย้ายทัพมาถึงวอเตอร์ลู ฝนเริ่มตกและตกหนักอย่างต่อเนื่องตลอดคืนวันที่ ๑๗ มิถุนายน ถนนและพื้นที่เจิ่งนองด้วยน้ำและโคลนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนทัพเพราะการลำเลียงรถม้าบรรทุกเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ก่อให้เกิดความล่าช้าที่ผิดความคาดหมาย ฝนหยุดตกช่วงรุ่งสางของวันที่ ๑๘ มิถุนายน แม้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ต้องการบุกโจมตีกองทัพเวลลิงตันให้เร็วที่สุดก่อนที่กองทัพของบลือเชอร์จะมาสมทบ แต่พระองค์ก็ต้องชะลอการบุกเพื่อรอให้พื้นที่เจิ่งนองนั้นแห้งก่อน การบุกที่กำหนดไว้เวลา ๑๑.๐๐ น. ต้องเลื่อนออกไปเป็น ๑๓.๐๐ น. ทรงสั่งการให้กองกำลังทหารราบซึ่งเจ้าชายเชโรม โบนาปาร์ต (Jérôme Bonaparte)* พระอนุชา อดีตกษัตริย์แห่งเวสต์ฟาเลีย เป็นผู้บังคับบัญชาโจมตีปีกขวาของศัตรูที่เนินเขาอูกูม็องก่อนในเวลา ๑๑.๓๐ น. โดยมีการระดมยิงปืนใหญ่หนุนช่วยการบุกซึ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามสูญเสียทหารเป็นจำนวนมาก การต่อสู้ดำเนินไปตลอดทั้งวันและฝรั่งเศสเป็นฝ่ายบุกถึง ๔ ครั้งแต่ก็ไม่สามารถยึดอูกูม็องได้และมีทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

 ในช่วงบ่าย กองทหาร ๔ กองทัพของฝรั่งเศสบุกโจมตีตรงกลางทัพหน้าและตีปีกซ้ายของกองกำลังอังกฤษท่ามกลางห่ากระสุนปืนใหญ่ที่ฝ่ายอังกฤษระดมยิงอย่างหนักและต่อเนื่อง มีการประจัญบานกันระหว่างกองทหารราบกับกองทหารม้า ในช่วงเย็นกองทัพของจอมพล เนสามารถยึดที่มั่นที่ลาเอแซ็งต์ได้พร้อมยึดปืนใหญ่ได้หลายกระบอกและกำลังด้านหน้าของกองทัพเวลลิงตันแตก จอมพล เนได้ส่งม้าเร็วไปขอกำลังทหารราชองครักษ์ฝรั่งเศสมาช่วยโจมตีเพื่อรุกต่อไป แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ไม่ได้ส่งกำลังหนุนไปให้ตามคำร้องขอเพราะกองทหารราชองครักษ์ติดพันการรบกับกองทหารปีกซ้ายของเวลลิงตัน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงคาดหวังว่าจะมีชัยชนะต่อกองทัพของเวลลิงตันก่อนที่กองทัพของปรัสเซียจะมาถึงกองทหารของพระองค์มี ๗๔,๐๐๐ นาย เผชิญกับกองทหารของเวลลิงตัน ๖๗,๐๐๐ นาย มีพระบัญชาให้ทหาร ๗ กองพลและทหารราชองครักษ์และทหารกองหนุนโหมบุกแนวกลางกองทัพของเวลลิงตันอย่างต่อเนื่อง เจ้าชายวิลเลียมแห่งออร์เรนจ์ (William of Orange) หรือต่อมาเสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนามพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๔๙)*แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งคุมกองทัพหน้าของแนวกลางกองทัพอังกฤษต่อสู้อย่างกล้าหาญจนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนคาบศิลาที่บริเวณพระอังสาจนพลัดตกม้าทรง แม้เวลลิงตันและกองทัพจะสูญเสียอย่างหนักแต่ก็ยังสามารถต้านการโจมตีไว้ได้ เนื่องจากดุ๊กแห่งเวลลิงตันรู้ยุทธวิธีรบของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ดีจากประสบการณ์การรบที่สเปนและหาทางแก้ไขได้ เช่น เมื่อฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงนำแล้วให้กองทหารม้าเข้าโจมตี ดุ๊กแห่งเวลลิงตันก็จัดขบวนใหม่ไม่ให้กองทหารม้ารวนเร ดังนั้นแม้จะสูญเสียทหารมากแต่แนวรบยังคงมั่นคงและสามารถต้านอยู่ได้จนกองทัพปรัสเซียของบลือเชอร์มาถึงทางปีกขวาของกองทัพฝรั่งเศสและเข้ารวมกันบริเวณลาแบลอัลลิย็องซ์ (La Belle Alliance) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการรบของฝรั่งเศสในยุทธการที่วอเตอร์ลูบางครั้งจึงเรียกกันอีกชื่อว่ายุทธการลาแบลอัลลิย็องซ์ (Battle of La Belle Alliance) กองทัพเวลลิงตันกลายเป็นฝ่ายรุกจนบีบให้กองทัพฝรั่งเศสต้องล่าถอยอย่างไร้กระบวน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงเปลี่ยนม้าทรงเพื่อรีบกลับกรุงปารีสก่อน เพื่อจะชี้แจงให้รัฐบาลและประชาชนสนับสนุนพระองค์ต่อไป


และทรงคาดหวังที่จะระดมกำลังพลใหม่ แต่ล้มเหลวเพราะข่าวการพ่ายแพ้ของกองทัพของพระองค์แพร่ไปถึงฝรั่งเศสก่อนแล้วและมีผู้นำกองทัพไม่มากที่สนับสนุนพระองค์ ในช่วงเวลาเดียวกันบลือเชอร์ได้นำทัพปรัสเซียไล่ตามกองทัพฝรั่งเศสอย่างไม่ลดละ และกองทัพอังกฤษก็ติดตามมาในวันถัดไป

 ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในยุทธการที่วอเตอร์ลูส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกำลังพลน้อยกว่า กำลังพลจำนวนไม่น้อยเป็นทหารเกณฑ์ใหม่ที่ขาดประสบการณ์ในสนามรบ ทั้งมีแม่ทัพที่มีความสามารถไม่เพียงพอแก่การควบคุมกองทัพ และแม่ทัพระดับชั้นรองมักปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเดียวโดยปราศจากความคิดริเริ่ม ในขณะที่ฝ่ายสหพันธมิตรมีแม่ทัพที่สามารถและมีความคิดริเริ่มโดยมักหาทางแก้ไขโดยใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ รวมทั้งทหารปรัสเซียก็มีวินัยและความอดทนสูง ในช่วงที่กองทัพฝรั่งเศสโจมตีกองทัพปรัสเซียของบลือเชอร์แตก จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงประมาทยุทธวิธีของดุ๊กแห่งเวลลิงตัน ทั้งยังทรงเหยียดหยามว่าเป็นยุทธการที่วอเตอร์ลูนายพลชั้นเลว รวมทั้งเข้าพระทัยผิดว่ากองทัพปรัสเซียแตกยับเยินและจะถอยกลับไปยังฐานกำลังที่เมืองนามูร์ (Namur) แต่ปรัสเซียกลับเคลื่อนกำลังไปทางตอนเหนือยังเมืองวาฟร์ซึ่งใกล้กับวอเตอร์ลูเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพของเวลลิงตัน แม้ฝรั่งเศสจะส่งกองทัพติดตามแต่ก็มาไม่ทัน ในยุทธศาสตร์ครั้งนี้ฝรั่งเศสมีทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตประมาณ ๒๔,๐๐๐–๒๖,๐๐๐ นาย สูญหาย ๑๕,๐๐๐ นาย และถูกจับเป็นเชลยประมาณ ๖,๐๐๐–๗,๐๐๐ นาย ทหารฝ่ายอังกฤษและสหพันธมิตรเสียชีวิต ๓,๕๐๐ นาย สูญหาย ๓,๓๐๐ นาย ส่วนทหารของปรัสเซียเสียชีวิต ๑,๒๐๐ นาย บาดเจ็บ ๔,๔๐๐ นาย สูญหาย ๑,๔๐๐ นาย กองทัพอังกฤษโดยเฉพาะดุ๊กแห่งเวลลิงตันแม่ทัพได้รับการยกย่องอย่างสูงในการเผด็จศึกในยุทธการครั้งนี้

 ยุทธการที่วอเตอร์ลูเป็นการปิดฉากของสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* ที่ดำเนินมากว่า ๑๐ ปี และเป็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ในยุโรป จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ซึ่งถูกกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนกดดันและต่อต้านจึงตัดสินพระทัยประกาศสละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นโดยมีโชแซฟ ฟูเช (Joseph Fouché) อดีตอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้นำในการเจรจาสงบศึกกับฝ่ายสหพันธมิตร จนนำไปสู่การลงนามสงบศึกในสนธิสัญญาเมืองแซงคลู (St. Cloud) ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๑๕ อีก ๔ วันต่อมากองทัพสหพันธมิตรก็ยาตราทัพเข้าสู่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม และในวันรุ่งขึ้นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* เสด็จกลับมาครองบัลลังก์ฝรั่งเศสและนำไปสู่ช่วงสมัยฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ครั้งที่ ๒ (Second Restoration)* ส่วนจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงถูกส่งไปควบคุมที่เกาะเซนต์เฮเลนาทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกจนเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๒๑

 ใน ค.ศ. ๑๘๒๐ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๑๕–๑๘๔๐)* แห่งสหราชอาณาจักรเนเธอร์-แลนด์ (United Kingdom of the Netherlands) ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๑๕ โดยรวมเบลเยียมเข้ากับเนเธอร์แลนด์ ทรงโปรดให้สร้างอนุสรณ์สถานเนินราชสีห์ [Lion’s Mound; Butate du Lion (ภาษาฝรั่งเศส); Leeuw van Waterloo (ภาษาดัตช์)] ขึ้น ณ บริเวณการรบที่วอเตอร์ลู มีลักษณะเป็นเนินเขาจำลองรูปทรงกรวย บนยอดประดิษฐานรูปปั้นราชสีห์ขนาดใหญ่บนฐานสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่ที่เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ทรงได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนดินที่นำมาสร้างเนินจำลองมีปริมาตร ๓๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ความสูงถึงเชิงรูปปั้นต้องเดินขึ้นบันได ๒๒๕ ขั้น บนยอดของเนินเขาจำลองสามารถมองเห็นภูมิทัศน์ของการรบที่วอเตอร์ลูได้โดยรอบ ดินที่นำมาสร้างเนินจำลองมาจากสันเขาที่เป็นที่ตั้งของกองทัพอังกฤษภายใต้การบัญชาการของดุ๊กแห่งเวลลิงตันนอกจากนี้ยังเป็นอนุสรณ์สถานยุทธการที่กาเตรอบราอีกด้วย สร้างเสร็จใน ค.ศ. ๑๘๒๖ ปัจจุบันเป็นสถานท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเบลเยียมที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม พร้อมชมภาพวาดขนาดใหญ่ของการรบที่วอเตอร์ลูที่จัดแสดงไว้ด้วย.



คำตั้ง
Waterloo, Battle of
คำเทียบ
ยุทธการที่วอเตอร์ลู
คำสำคัญ
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรบที่วอเตอร์ลู
- ตาเลรอง-เปรีกอร์, ชาร์ล โมริซ เดอ
- นโปเลียนที่ ๑
- เน, จอมพล มีเชล
- เน, มีเชล
- ยุทธการที่กาเตรอบรา
- ยุทธการที่ลีญี
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ยุทธการลาแบลอัลลิย็องซ์
- เวลส์
- สงครามนโปเลียน
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๗
- สมัยฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ครั้งที่ ๒
- สมัยร้อยวัน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
June 18, 1815
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๕๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-